การบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ (Quality Maintenance)
Pillar 6 - การบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ (Quality Maintenance)
การผลิตชิ้นงานให้ได้คุณภาพและความประณีต (Precision) ตามพิกัดความเผื่อที่ได้ตกลงกับลูกค้าไว้นั้น ความแม่นยำของเครื่องจักรมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก
ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมความแม่นยำของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้วยการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ
การดำเนินกิจกรรมการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ คือ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมการประกันคุณภาพและกิจกรรมการควบคุมเครื่องจักรเข้าด้วยกัน
โดยการติดตามคุณลักษณะทางด้านคุณภาพของชิ้นงานและการใช้งานของเครื่องจักรให้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
การจัดทำตารางมาตรฐานการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคุณลักษณะทางด้านคุณภาพกับค่ามาตรฐานของการตั้งเครื่องจักร เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีความประณีตตามพิกัดความเผื่อที่กำหนด
แนวคิดและความสำคัญของการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ
1. การประกันคุณภาพกับการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ
การประกันคุณภาพ (Quality Assurance) หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่กระทำเพื่อความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะต้องมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยกระบวนการคุณภาพเริ่มตั้งแต่การออกแบบมาจนถึงการคัดเลือกปัจจัยในการผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต และการป้องกันไม่ให้ชิ้นงานที่ไม่มีคุณภาพหลุดไปถึงมือลูกค้า
การบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ (Quality Maintenance) คือ การประกันคุณภาพในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบหรือการเลือกซื้อ
การบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ผลิตชิ้นงานได้อย่างมีคุณภาพตลอดเวลา โดยการหาความสัมพันธ์ของคุณลักษณะทางคุณภาพกับ ความแม่นยำของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะทางคุณภาพกับเงื่อนไขต่างๆ ในการตั้งเครื่องจักร ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะทางคุณภาพกับวิธีการทำงาน โดยความสัมพันธ์ทั้งหลายดังกล่าวนั้นกำหนดขึ้นมาเพื่อหาทางควบคุมต่อไป
2. ความหมายของการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ
การบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ คือ การประกันคุณภาพในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อ
1. ความมั่นใจในคุณภาพที่เกิดจากการบำรุงรักษาเครื่องจักร
2. เงื่อนไขต่างๆ ของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่จะไม่ทำให้เกิดของเสีย
3. ป้องกันปัญหาทางด้านคุณภาพด้วยการควบคุมเงื่อนไขที่จะไม่ทำให้เกิดของเสีย
4. ตรวจวัดความเบี่ยงเบนของเงื่อนไขต่างๆ เพื่อพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดของเสียและหาทางป้องกันล่วงหน้า
3. การบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพกับ 5 เสาหลักของกิจกรรม TPM
ความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ คือ การทำให้เครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือ อยู่ในสภาพที่ดี มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกับ
สภาพแวดล้อม ทักษะ และวิธีการทำงาน ที่ต้องเอื้ออำนวยต่อการเกิดคุณภาพ และเพื่อให้บรรลุความจำเป็นขั้นพื้นฐานดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มวัตถุประสงค์ในการมุ่งมั่นไม่ให้เกิดของเสียเข้าไปใน 5 เสาหลักของ กิจกรรม TPM อันประกอบไปด้วย การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง การบำรุงรักษาด้วยตนเอง การบำรุงรักษาตามแผน การคำนึงถึงการบำรุงรักษาตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา ตามภาพ
ในภาพจะเห็นได้ว่า การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง จะเพิ่มเติมเรื่องของการปรับปรุงและการแก้ปัญหาทางด้านคุณภาพเข้าไปด้วย ในขณะที่ การบำรุงรักษาด้วย
ตนเอง จะเพิ่มเติมทักษะในเรื่องของการสังเกตและแก้ไขปัญหาทางด้านคุณภาพเข้าไป ในส่วนของ การบำรุงรักษาตามแผน จะเพิ่มเรื่องของการตรวจสอบเงื่อนไขทางด้านคุณภาพเข้าไปในแผนการบำรุงรักษาตามคาบเวลา เพื่อเป็นการติดตามความเบี่ยงแบนของเงื่อนไขต่างๆ ว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ สำหรับการ คำนึงถึงการบำรุงรักษาตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ จำเป็นที่จะต้องสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่คิดว่า จะทำให้เกิดการผลิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งการออกแบบเครื่องจักรและการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมีเสาหลักที่ 5 คือ การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา เป็นกลไกในการสร้างจิตสำนึกและทักษะในการจัดการกับปัญหาทางด้านคุณภาพ