การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา

Pillar 4 - การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา


TPM เป็นกิจกรรมในเชิงโครงสร้างที่ต้องการความร่วมมือจากทั้งองค์การ เพื่อช่วยกันเปลี่ยนแปลงบรรยากาศในการทำงานด้วยเครื่องจักรให้มีบรรยากาศที่ดีและมีการจัดการที่ทันสมัย ดังนั้นเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติงานได้โดยสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทักษะและความชำนาญของพนักงานทุกคนในการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตามการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึก TPM อย่างประสบความสำเร็จ โดยทำให้ผู้ใช้เครื่องจักรคิดได้ว่า "เครื่องจักรของเรา เราต้องรักษา" นั้น มักประสบปัญหาที่ว่า ผู้ใช้เครื่องไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิค ไม่มีความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานการออกแบบเครื่องจักร และไม่มีความรู้ทางด้านบริหารจัดการ

หากต้องการพัฒนา TPM ให้ได้ผลอย่างต่อเนื่องนั้น การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บ่อยครั้งการพัฒนาดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ หากองค์การไม่สามารถหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะในหน่วยงานของตนเองทั้งในด้านความสามารถ ความสัมพันธ์ของบุคลากร และลักษณะของการปฏิบัติงาน

OJT และ OFF-JT

การศึกษาและการฝึกอบรมโดยทั่วไปมีทั้งการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานส่งเสริม TPM ซึ่งมีการนำผู้เรียนลงไปฝึกปฏิบัติในสถานที่จริงหรือเรียกว่า On-the-Job Training (OJT) และการศึกษาหรือการฝึกอบรมแบบให้ผู้เรียนศึกษาในห้องเรียนหรือค้นคว้าจากแหล่งความรู้ต่างๆ หรือเรียกว่า Off-the-Job Training (OFF-JT) ทั้งนี้การศึกษาและฝึกอบรมทั้ง 2 รูปแบบต่างก็อยู่บนพื้นฐานของการปรับปรุงทักษะของแต่ละคน เพื่อจะนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทด้วยการทำงานอย่างถูกต้องและมีความชำนาญ

การศึกษาและการฝึกอบรมดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นแบบ OJT หรือ OFF-JT เป็นหน้าที่หลักของฝ่ายบริหารและหัวหน้างานในสายการผลิตนั้นๆ ในการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้กับพนักงาน ในหัวข้อหลักต่อไปนี้

การเพิ่มพูนทักษะในการดูแลรักษาเครื่องจักร

การเพิ่มพูนทักษะในการปฏิบัติงาน

ความหมายและลำดับขั้นการเกิดทักษะ

คำว่าทักษะมีความหมายโดยทั่วไปว่า ความสามารถในการปฏิบัติงาน หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และความสามารถในการตอบสนองอย่างรวดเร็ว (ไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์เป็นเวลานาน) กับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความรู้และประสบการณ์

ผู้ที่ใช้เวลาน้อยกว่าในการตรวจจับความผิดปกติและหาทางแก้ไข คือ ผู้ที่มีทักษะสูงกว่าผู้ที่ใช้เวลามากกว่าในการทำอย่างเดียวกัน โดยทั่วไปคนเราจะมีการพัฒนาทักษะโดยอัตโนมัติ หากมีประสบการณ์ที่เพียงพอหรือมีโอกาสในการลองผิดลองถูก แต่การรอให้เกิดทักษะโดยอัตโนมัติดังกล่าว ต้องใช้เวลานานและไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับลักษณะส่วนบุคคลเป็นหลัก

ดังนั้นความหมายของการพัฒนาทักษะในที่นี้ จึงหมายถึงการให้การศึกษาและฝึกอบรมเพื่อย่นย่อเวลาที่เกิดทักษะ โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์เพียงอย่างเดียว



สำหรับลำดับขั้นตอนของการพัฒนาทักษะของคนเราเริ่มตั้งแต่ไม่รู้อะไรเลย และไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มาก่อน จนถึงขั้นที่สามารถสอนผู้อื่นได้

มีดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 : ยังไม่มีทฤษฎีและทักษะ (ยังไม่ผ่านการฝึกอบรมและการปฏิบัติ)

ขั้นที่ 2 : มีเฉพาะทฤษฎี (เริ่มปฏิบัติงาน)

ขั้นที่ 3 : มีทักษะ (ประยุกต์ทฤษฎีเข้ากับการปฏิบัติ)

ขั้นที่ 4 : มีทฤษฎีใหม่ (ทฤษฎีที่ได้จากการปฏิบัติ)

ขั้นที่ 5 : มีทักษะขั้นสูงสามารถสอนผู้อื่นได้ (ประยุกต์ทฤษฎีใหม่เข้ากับทักษะ)

New Up Date

Manufacturing Idea © 2008 Template by Dicas Blogger.

TOPO