การบำรุงรักษาตามแผน - Planned Maintenance
Pillar 3 - การบำรุงรักษาตามแผน - Planned Maintenance
การบำรุงรักษาตามแผนเป็นกิจกรรมของฝ่ายซ่อมบำรุงและเป็นเสาหลักหนึ่งใน TPM ในขณะที่ฝ่ายผลิตทำกิจกรรมการปรับปรุงเฉพาะเรื่อง และผู้ใช้เครื่องทำกิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยตนเอง
การบำรุงรักษาตามแผน คือ การที่ฝ่ายซ่อมบำรุงดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เครื่องจักรใช้งานได้ดีตลอดเวลา นั่นก็คือกิจกรรมเพื่อให้เครื่องจักรมีอัตราการใช้งานสูง (Availability) และเพื่อเพิ่มพูนทักษะความสามารถในการซ่อมบำรุง (Maintainability) โดยแบ่งย่อยออกเป็น การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ การบำรุงรักษาเชิงแก้ไขปรับปรุง การป้องกันการบำรุงรักษา และการบำรุงเมื่อขัดข้อง
การบำรุงรักษาตามแผนจะทำกับเครื่องจักรต้นแบบและชิ้นส่วนต้นแบบเป็นอันดับแรกก่อน จากนั้นจึงขยายผลจนครบทุกเครื่องจักรในโรงงาน นอกจากนั้นยังต้องมีกิจกรรมอื่นสนับสนุนด้วย เช่น กิจกรรมการช่วยเหลือผู้ใช้เครื่องในการบำรุงรักษาด้วยตนเอง กิจกรรมสำหรับการบำรุงรักษาเชิง แก้ไขปรับปรุง กิจกรรมเพื่อการป้องกันการบำรุงรักษา และกิจกรรมเพื่อการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์
กิจกรรมในระบบการบำรุงรักษาตามแผน
1. กิจกรรมเพื่อให้เครื่องจักรใช้งานได้ดีตลอดเวลา
กิจกรรมเพื่อให้เครื่องจักรใช้งานได้ดีตลอดเวลาประกอบไปด้วยกิจกรรมเพื่อให้เครื่องจักรมีอัตราการใช้งานสูง (Availability) และเพื่อความสามารถใน
การซ่อมบำรุง (Maintainability) วิธีการบำรุงรักษาที่จะช่วยส่งเสริม Availability และ Maintainability ประกอบด้วยการบำรุงรักษาแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้
เพื่อหยุดความเสียหาย
- การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
- การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance)
เพื่อป้องกันความเสียหาย
- การบำรุงเชิงแก้ไขปรับปรุง (Corrective Maintenance)
- การป้องกันการบำรุงรักษา(Maintenance Prevention)
เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อเกิดการเสียหาย - การบำรุงรักษาเมื่อขัดข้อง (Breakdown Maintenance)
2. กิจกรรมในเชิงการบริหารการบำรุงรักษา
เพื่อให้การบำรุงรักษาตามแผนได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเครื่องจักร อะไหล่ หรืองบประมาณต่างๆ โดยทั่วไปต้องมีกิจกรรมเชิงบริหาร อันประกอบด้วย
การจัดการข้อมูลด้านต่างๆ ในการบำรุงรักษา (Maintenance Information Management)
การจัดการชิ้นส่วนและอะไหล่ (Spare Part Management)
การจัดการต้นทุนการบำรุงรักษา (Maintenance Cost Management)
3. กิจกรรมสนับสนุนจากฝ่ายผลิต
เพื่อให้การบำรุงรักษาบรรลุวัตถุประสงค์ ในการดำเนินการตามแนวทางของ TPM จำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายซ่อมบำรุงและฝ่ายผลิตต้องดำเนินกิจกรรมดังกล่าวร่วมกัน โดยกิจกรรมของฝ่ายผลิตที่ต้องการเพื่อสนับสนุนการบำรุงรักษาตามแผน ก็คือ
การบำรุงรักษาด้วยตนเอง (Autonomous Maintenance)
การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง (Individual Improvement)
การบำรุงรักษาตามแผนโดยการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดนั้นจะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้โดยการปรับปรุงผลิตผล (Output) ที่จะออกมาในรูปของความพยายามให้เครื่องจักรเสียเป็นศูนย์ (Zero Failure) ของเสียเป็นศูนย์ (Zero Defect) และอุบัติเหตุเป็นศูนย์ (Zero Accident) ในขณะเดียวกันยังช่วยลด
สิ่งต่างๆ ที่ใช้ในการบำรุงรักษา (Input)